โรคกล่องเสียงอักเสบ ILT

โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ (Infectious Laryngotracheitis: ILT)      โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยก่อโรคที่ระบบทางเดินหายใจในไก่ ไก่ฟ้า และนกยูง  ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ พบการอักเสบของเยื่อเมือกแบบมีเมือกปนเลือด...

โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อ (Infectious Laryngotracheitis: ILT)

     โรคกล่องเสียงอักเสบติดต่อเป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโดยก่อโรคที่ระบบทางเดินหายใจในไก่ ไก่ฟ้า และนกยูง  ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ พบการอักเสบของเยื่อเมือกแบบมีเมือกปนเลือด จนถึงพบแผ่นเนื้อตายที่เนื้อเยื่อบุผิวทางเดินหายใจ มักจะพบอาการในส่วนของกล่องเสียงและหลอดคอ โดยพบว่าไก่แสดงอาการหายใจลำบากและไอ ไก่จะแสดงอาการยืดบริเวณส่วนหัวและคอไปข้างหน้าและยกขึ้นด้านบนขณะหายใจเข้า (ภาพที่ 1)  พบเมือกอุดตันในส่วนของกล่องเสียงและหลอดคอ โดยมีลักษณะเป็นเมือกปนเลือดจนถึงพบแผ่นเนื้อตาย (ภาพที่ 2) พบการอักเสบแบบมีเลือดออกที่บริเวณกล่องเสียงและหลอดคอ (ภาพที่3)

ภาพที่ 1 ไก่ป่วยจะแสดงอาการยืดหัวและคอไปด้านหน้าและยกขึ้นด้านบนขณะหายใจเข้า 

ภาพที่ 2 พบเปื้อนเลือด และการอักเสบของกล่องเสียงและหลอดคอ

ภาพที่ 3 แสดงการอักเสบเบบมีเลือดของกล่องเสียงและหลอดคอ 

     แม้ว่าโรคนี้จะสามารถทำอันตรายในสัตว์ปีกได้ทุกอายุแต่การระบาดส่วนใหญ่มักพบในไก่อายุระหว่าง 4-14 สัปดาห์ สาเหตุของโรคนี้เกิดจากเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส (Herpes virus) ที่ทนทานค่อนข้างสูงในสภาพแวดล้อม

     อัตราการป่วยของโรคนี้สามารถสูงถึง 50 - 70% และพบอัตราการตาย 10 - 20% มักจะพบบ่อย ๆ ว่าก่อปัญหาร่วมกับเชื้อหลายชนิด ได้แก่ E.coli, Staphylococcus aureus, Mycoplasma gallisepticum และเชื้ออื่น ๆ ในบางกรณีพบว่าก้อนของสิ่งคัดหลั่งที่ปนด้วยเลือดหรือแผ่นเนื้อตาย อุดตันการทำงานของกล่องเสียงและหลอดคอ (ภาพที่ 4)

ภาพที่ 4 ก้อนหนองอุดตันกล่องเสียงและหลอดคอ

     ที่มาของการติดเชื้อนี้คือ ไก่ที่ป่วย หรือไก่ที่หายจากการป่วยแล้ว ซึ่งจะสามารถเป็นตัวนำเชื้อไวรัสต่อไปได้อีก 1-2 ปี ในรูปแบบที่ทำให้เกิดอาการที่เยื่อตาขาว (conjunctival form) จะพบว่าไก่มีน้ำตา และมีการบวมน้ำของโพรงอากาศใต้ตา (infraorbital sinuses) ภาพที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน

 ภาพที่ 5 การบวมน้ำของโพรงอากาศใต้ตา (infraobital sinuses)

     อาการทางคลินิกและและวิการที่พบนั้นเพียงพอที่จะบอกถึงการเกิดปัญหาของโรคนี้ การวินิจฉัยนั้นสามารถยืนยันได้โดยการตรวจทางจุลพยาธิวิทยาของหลอดลมในระยะแรกของการเกิดโรค (Intranuclear inclusion bodies) หรือการตรวจทางซีรั่มวิทยา (VN, ELISA) และวิธีอื่น ๆ

     โรคกล่องเสียงอักเสบ ควรมีการวินิจฉัยแยกจากโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ (IB) โรคหัวบวม (swollen head syndrome) และการติดเชื้อ Mycoplasma synoviae และโรคอื่น ๆ

     พื้นที่ที่มีการพบปัญหาโรคกล่องเสียงอักเสบควรมีการล้างทำความสะอาด ทำการฆ่าเชื้อ และพักเล้าไว้ประมาณ 5-6 สัปดาห์ การทำวัคซีนในฝูงไก่ที่ไม่ป่วย และงดการใช้อุปกรณ์ร่วมกับฝูงที่ป่วยสามารถช่วยป้องกันและหยุดผลกระทบของการเกิดโรคได้

(ที่มา: "Diseases of poultry - A colour atlas" - Ivan Dinev & CEVA Santé Animal, 2010)

กลับสู่ด้านบน